สมัยกรุงศรีอยุธยา
ราว พ.ศ. ๒๒๔๖ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็ง เบญจศก
พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้ครองนครจำปาศักดิ์
ซึ่งสืบสายมาจากชาวไทยกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ให้จารย์แก้วคุมไพร่พลสามพันคนเศษ
มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเมืองทุ่ง (ท้องที่อำเภอสุวรรณภูมิ)
เรียกว่า เมืองทุ่งหรือเมืองทง ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์
จารย์แก้วปกครองเมืองทุ่งอยู่ได้นานสิบหกปีก็ถึงแก่กรรม
จารย์แก้วมีบุตรสองคนคือท้าวมืดกับท้าวทน
พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงทรงแต่งตั้งท้าวมืดเป็นเจ้าเมืองทุ่ง
และท้าวทนเป็นอุปราช เมื่อท้าวมืดถึงแก่กรรม
ท้าวทนจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพี่ชาย ท้าวมืดมีบุตรสองคนคือ
ท้าวเชียงและท้าวสูน ทั้งสองคนไม่พอใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนบิดา
จึงได้คบคิดกับกรมการเมืองที่เป็นสมัครพรรคพวกของตน
เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบรม
โพธิสมภาร สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์
กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้นำทองคำแท่งจำนวนมากไปถวายในคราวเข้าเฝ้า
พร้อมกับทูลขอกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยรบกับท้าวทน สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพรหมกับพระยากรมท่าเป็นแม่ทัพเดินทางมาพร้อมกับท้าวเชียงและท้าวสูน
เมื่อเดินทางใกล้ถึงเมืองทุ่ง ท้าวทนทราบข่าว จึงพาครอบครัวและไพร่พลอพยพไปอยู่ ณ
บ้านกุดจอก เมื่อพระยาพรหมและพระยากรมท่าเข้าเมืองแล้ว
ได้ติดตามไปนำตัวท้าวทนมาว่ากล่าวตักเตือนให้คืนดีกันกับท้าวเชียงและท้าวสูนผู้เป็นหลาน
ท้าวเชียงกับท้าวสูนก็ได้ครองเมืองทุ่งและเมืองทุ่งจึงขาดจากการปกครองของนครจำปาศักดิ์
มาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่บัดนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น