สมัยรัตนโกสินทร์


สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ดซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองอื่นหลายเมือง คือ เมืองสุวรรณภูมิถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองชนบท เมืองพุทไธสง เมืองพยัคภูมิพิสัย เมืองร้อยเอ็ดได้ถูกแบ่งท้องที่ตั้งเมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ จนกระทั่งปี พ.. ๒๔๕๑ ได้มีการปรับปรุงรูปการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด อำเภอ เมืองร้อยเอ็ดเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิลดฐานะเป็นอำเภอสุวรรณภูมิ อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดร้อยเอ็ดแต่นั้นมา
เมื่อครั้งเกิดกบฏฮ่อ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ธิบดีเป็นแม่ทัพเกณฑ์กำลังคนทางหัวเมืองภาคอีสาน ยกไปปราบฮ่อที่เมืองเวียงจันทร์และเมืองหนองคาย ขณะนั้นเมืองร้อยเอ็ดมีพระขัติยะวงษา (สาร) เป็นเจ้าเมือง และราชบุตร (เสือ) ได้รวบรวมไพร่พลสมทบกับกองทัพพระยามหาอำนาจธิบดีไปปราบฮ่อด้วย ระหว่างทำศึกปราบฮ่อนั้นราชบุตร (เสือ) ถูกยิงด้วยปืนที่มือขวาโลหิตไหล  บ่าวไพร่พาหนีมาได้ ส่วนพระขัติยะวงษา (สาร) กลับหนีศึกคืนมาเมืองร้อยเอ็ด เมื่อเสร็จศึกปราบฮ่อแล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีจึงควบคุมตัวพระขัติยะวงษา (สาร) แต่ได้หนีไปอยู่เมืองนครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาจับได้และส่งไปยังพระมหาอำมาตย์ธิบดีที่เมืองหนองคาย แล้วพระยามหาอำมาตย์ธิบดีกลับมาจัดราชการที่เมืองร้อยเอ็ด โดยตั้งราชบุตร (เสือ) เป็นผู้รักษาราชการ เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งภายหลังได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนพระขัติยะ   วงษา (สาร)
ในปี พ.. ๒๔๕๗ ทางราชการได้ย้ายกองพลทหารราบที่ ๑๐ จากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งกองพลทหารราบที่ ๑๐ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีถนนสายหนึ่งชื่อถนนกองพล ๑๐ ซึ่งเป็นถนนสู่กองพลดังกล่าว ต่อมาได้ย้ายกรมทหารราบที่ ๒๐ จังหวัดอุดรธานีมารวมในกองพลทหารราบที่ ๑๐ ภายหลังได้ยุบกองพลทหารราบที่ ๑๐ เป็นกองพันทหารม้าที่ ๕ และได้ยุบกองทัพทหารม้าที่ ๕ ไปในที่สุด


การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงนำวิทยาการแผนใหม่จากประเทศตะวันตกมาใช้ ทรงตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง มีการแบ่งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละกระทรวงให้แน่นอนและมีเสนาบดีรับผิดชอบบริหารงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมือง หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงเริ่มการจัดตั้งมณฑลขึ้นในปี พ.. ๒๔๓๗ โดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงนี้การปกครองหัวเมืองนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมืองหรือประเทศราชยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมไปมาลำบาก หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจกว้างขวาง แต่การจัดตั้งมณฑลนั้นข้าหลวงหรือข้าหลวงเทศาภิบาลขึ้นตรงต่อส่วนกลาง
ปี พ.. ๒๔๓๕ ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองเข้าด้วยกันมี ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลนครราชสีมาและมณฑลภูเก็ต ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลลาวกาว
ปี พ.. ๒๔๓๗ ได้จัดระเบียบบริหารมณฑลแบบใหม่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีนบุรี และมณฑลราชบุรี ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากมณฑลแบบเก่าและต่อมาได้ตั้งมณฑลต่าง ๆ ขึ้นอีกคือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร มณฑลไทรบุรี (ภายหลังยกให้อังกฤษ เมื่อปี ๒๔๕๐) มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มณฑลปัตตานี มณฑลจันทบุรี และมณฑลมหาราช ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑลอีสาน
ปี พ.. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลร้อยเอ็ดมี เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคาม
ปี พ.. ๒๔๖๕ ได้รวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร ขึ้นเป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน
ปี พ.. ๒๔๖๙ ยุบปกครองภาคอีสาน ให้จังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล ไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา
ระบอบมณฑลเทศาภิบาลนี้ได้ยกเลิกไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.. ๒๔๗๕

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.. ๒๔๗๕ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖ จัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ และได้ยกเลิกระบอบมณฑลเทศาภิบาล ขณะนั้นจังหวัดร้อยเอ็ดมี ๙ อำเภอ คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ อำเภอโพนทอง อำเภออาจสามารถ อำเภอพนมไพร อำเภอสุวรรณภูมิ
อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอจตุรพักตรพิมาน ต่อมาได้แบ่งพื้นที่เป็นอำเภอหนองพอก อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเมืองสรวง อำเภอโพธิ์ชัย กิ่งอำเภอโพนทราย และกิ่งอำเภอเมยวดี
ต่อมาเมื่อได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.. ๒๔๙๕ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนั้นและถือเป็นหลักหรือรากฐานของการแบ่งส่วนราชการไทยสมัยต่อๆ มา พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ ปี พ.. ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วน     ภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น